เกี่ยวกับเรา

ประวัติโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) 

การแพทย์แผนไทยและการนวดแผนโบราณ มีประวัติความเป็นมาคู่กับชาติไทยมาแต่โบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรมแพทย์และกรมหมอนวดนั้น ถือได้ว่าเป็นกรมใหญ่ซึ่งต้องรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ตามทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ในกฎหมายตราสามดวงเล่ม 1 (พ.ศ.1998) บันทึกไว้ว่า “หลวงราชรักษาเจ้ากรมหมอนวดขวา และหลวงราโชเจ้ากรมหมอนวดซ้าย ถือนาดล 1600 ไร่ ขุนภักดีองค์และขุนองครักษา ปลัดกรมขวาและซ้าย นาดล 800 ไร่ หมื่นแก้ววรเลือก หมื่นวาโยวาศ และหมื่นวาโยชัย นาดล 600 ไร่ ...” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการรวบรวมตำรับยาต่างๆ ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” การแพทย์แผนไทยก็ ยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง มีการเปิดร้านจัดยาและขายยาสมุนไพรตามใบสั่งอยู่ทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกกำแพงพระนคร ซึ่งแม้ในขณะนั้นมิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศษได้นำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาเผย แพร่ในประเทศ ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าแพทย์แผนไทย

ในสมัยโบราณนั้นความรู้เกี่ยวกับการแพทย์และการนวดของไทยจะสั่งสอนสืบต่อกัน เป็นทอดๆ โดยครูจะรับตัวศิษย์ไว้แล้วค่อยสั่งค่อยสอนให้จดจำความรู้ต่างๆ ความรู้ที่สืบทอดกันมานั้น อาจเพิ่มพูน สูญหาย หรือเพี้ยนไปบ้างตามความสามารถของครูและศิษย์เป็นสำคัญ จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ “วัดโพธาราม” หรือ “วัดโพธิ์” ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ทรงให้รวบรวม ตำรายา ฤาษีดัดตน จวบจนตำราการนวด แล้วให้จารึกไว้ตามศาลาราย เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาโดยทั่วกัน ต่อมาใน พ.ศ.2375 ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ ทรงให้หล่อรูปฤษีดัดตนเป็นโลหะ และทรงให้รวบรวมตำราการนวดและตำราการแพทย์จารึกในวัดโพธิ์ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปศึกษา และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป ใน พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้แพทย์หลวงจัดสังคายนาและแปลตำราแพทย์จากภาษาบาลี และสันสกฤตเป็นภาษาไทย เรียกว่าตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ (ฉบับหลวง) ซึ่งตำรานี้ได้แยกการนวดเป็นภาควิชาหัตถศาสตร์ เรียกว่า “ตำราแบบนวดฉบับหลวง"






facebook instagram line google +